ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน

          โรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งอยู่เลขที่ 297 หมู่ที่ 4 ตำบลวังตะกอ อำเภอหลังสวน  จังหวัดชุมพร ประกาศจัดตั้ง เมื่อปี พ.ศ. 2536  เปิดสอนระดับ ช่วงชั้นที่ 3  คือชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และช่วงชั้นที่ 4  คือ  ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีเขตพื้นที่บริการ 20 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลวังตะกอ หมู่ที่ 1-11, ตำบลนาขา หมู่ที่ 1-7, 9 และ 20  เดิมตั้งเป็นโรงเรียนสาขาของโรงเรียนสวนศรีวิทยา  เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2536  ในปีแรกที่เปิดสอน รับสมัครนักเรียนได้ 231 คน จำนวน 6 ห้องเรียน  โดยอาศัยอาคารชั่วคราวของโรงเรียนสวนศรีวิทยาเป็นสถานที่เรียน มีครู – อาจารย์ของโรงเรียนสวนศรีวิทยาช่วยสอนจำนวน 20 คน และครูจ้างอีก 4 คน
          ในปีการศึกษาแรกที่เปิดสอน  นายยืนยง  กลิ่นรัตน์  ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนศรีวิทยา (ในขณะนั้น) เป็นผู้บริหารสาขาด้วย  ช่วงเดือนมกราคม 2537  ผู้ปกครองนักเรียนและชาวอำเภอหลังสวนได้ร่วมกันสร้างอาคารเรียนชั่วคราว จำนวน 2 หลัง มี 12 ห้องเรียน  และโรงอาหาร  จำนวน 1 หลัง  ห้องน้ำนักเรียนชั่วคราว จำนวน   2 หลังขึ้นในที่ดินปัจจุบัน  โดยการประสานงานของ  นายสุชิน  บุญเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสวนศรีวิทยา   ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้บริหารโรงเรียนสาขาเป็นผู้ดูแลโรงเรียนร่วมกับสภาตำบลวังตะกอ  วันที่ 29 มีนาคม 2537 กรมสามัญศึกษาได้ประกาศจัดตั้ง  โรงเรียนเมืองหลังสวนจึงได้แยกออกมาเป็นเอกเทศจากโรงเรียนสวนศรี-วิทยา  ทุกวันนี้ชาวอำเภอหลังสวนมักนิยมเรียกโรงเรียนเมืองหลังสวนว่า  “สวนศรี 2”  ตามชื่อโรงเรียนเดิม หรือเรียกว่า  “โรงเรียนห้วยกลั้ง ”  ตามสถานที่ตั้ง
          ปีการศึกษา 2537  ใช้ชื่อว่า “โรงเรียนเมืองหลังสวน” มีนักเรียน จำนวน 411 คน  มีครู อาจารย์ จำนวน 7 คน ครูอัตราจ้างจำนวน 3 คน พระภิกษุช่วยสอนจำนวน 1 รูป วันที่ 13 พฤษภาคม 2537 นายสุชิน บุญเพ็ญ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงเรียนสวนศรีวิทยา  ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากกรมสามัญศึกษาให้รักษาการในตำแหน่ง “ ครูใหญ่โรงเรียนเมืองหลังสวน”
          ปีการศึกษา 2538 มีนักเรียนจำนวน 643 คน มีครู – อาจารย์ จำนวน 17 คน ครูอัตราจ้าง จำนวน  3 คน พระภิกษุช่วยสอน จำนวน 1 รูป ยาม จำนวน 1 คน นักการภารโรง จำนวน 1 คน
          ปีการศึกษา 2541  มีนักเรียนจำนวน 632 คน  มีครู – อาจารย์   จำนวน 29 คน ครูอัตราจ้าง จำนวน 4 คน และนายสุชิน บุญเพ็ญ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเมืองหลังสวน ได้รับคำสั่งจากกรมสามัญศึกษา  ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2541 ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน
          ปีการศึกษา 2543  นายบุญเลิศ  ราชเดิม  ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ระหว่างวันที่ 8 พฤษภาคม 2543  -  วันที่ 6 พฤศจิกายน 2543 และนางสุจิตร ธนะไชย ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ระหว่างวันที่ 7 พฤศจิกายน 2543 - วันที่ 30 กันยายน 2551 
          ปีการศึกษา 2550  มีนักเรียน 940 คน  มีข้าราชการครู  33  คน พนักงานราชการ 3 คน  ครูอัตราจ้าง 4 คน   ครูต่างชาติชาวจีน  1  คน   นักการภารโรง 1 คน  พนักงานขับรถยนต์ 1 คน  ลูกจ้างชั่วคราว 3 คน
          ปีการศึกษา 2551  นายวินัย  กรานมูล  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2551  -  2554  มีนักเรียน 1,104 คน  ข้าราชการครู 37 คน  พนักงานราชการ 3 คน ครูอัตราจ้าง  4 คน  ครูต่างชาติชาวจีน 2 คน  นักการภารโรง 1 คน  พนักงานขับรถยนต์ 1 คน  ลูกจ้างชั่วคราว 3 คน เจ้าหน้าที่งาน สารบรรณ 2 คน  และเจ้าหน้าที่งานพัสดุ 1 คน
          ปีการศึกษา 2554 – 2561 นายนพรุจ เขียวสอาด ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2554  - 31 กันยายน 2561  มีนักเรียน 716 คน  ข้าราชการครู 42 คน พนักงานราชการ  2 คน ครูอัตราจ้าง 4 คน ครูต่างชาติ 1 คน ลูกจ้างชั่วคราว 9 คน ลูกจ้างประจำ 2 คน
          ปีการศึกษา 2561 – 2562 นายประพัศสร  ซุ่นสุวรรณ์  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2561 – 17 กันยายน 2562 มีนักเรียน 833 คน  ข้าราชการครู 45 คน  พนักงานราชการ  2 คน ครูอัตราจ้าง 7 คน ครูภาวะวิกฤต 1 คน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 2 คน ลูกจ้างชั่วคราว 7 คน ลูกจ้างประจำ 1 คน
          ปีการศึกษา 2563 นายไกรวัลย์  สังฆะสา  ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียนเมืองหลังสวน ตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน 2563 - ปัจจุบัน  มีนักเรียน 838 คน  ข้าราชการครู 45 คน  พนักงานราชการ  2 คน  ครูอัตราจ้าง 4 คน ครูภาวะวิกฤต 1 คน นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 2 คน  ลูกจ้างชั่วคราว 6 คน ลูกจ้างประจำ 1 คน

          สภาพชุมชนรอบโรงเรียนมีลักษณะเป็นชุมชนเมืองใหม่ มีประชากรประมาณ 15,000 คน  ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ค้าขาย ธุรกิจส่วนตัว รับจ้าง รับราชการ และรัฐวิสาหกิจ  เนื่องจากสภาพพื้นที่เหมาะสมแก่การเพาะปลูก ฐานะทางเศรษฐกิจ/รายได้โดยเฉลี่ย ประมาณ 80,000 บาท/คน/ปี  ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ  ประเพณีศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นที่รู้จักโดยทั่วไปคือแห่พระแข่งเรือขึ้นโขนชิงธง  ผู้ปกครองส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับ ม.3
          ด้านการศึกษา มีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน 1 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนอกไส  โรงเรียนประถม 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านเขาแงน โรงเรียนบ้านคลองระ โรงเรียนวัดสมุหเขตตาราม มีศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอหลังสวน ตำบลวังตะกอ 1 แห่ง มีที่อ่านหนังสือพิมพ์ประจำหมู่บ้าน 4 แห่ง  สถาบันและองค์กรทางศาสนา  3 แห่ง ได้แก่ วัดสมุหเขตตาราม วัดเสกขาราม วัดเทพวงศ์วราราม (วัดเขาแงน)
          ด้านสาธารณสุข ประกอบด้วย โรงพยาบาลของรัฐ ศูนย์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 13 แห่ง
          ด้านทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ มีแหล่งป่าไม้ แหล่งแร่ และแหล่งหิน แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 4 แห่ง ได้แก่ จุดชมวิวเขาเสก ถ้ำงามวัดเขาแงน น้ำตกหินช้างสี และสวนป่าชุมชน ตำบลวังตะกอ
          โรงเรียนได้รับความร่วมมือจากชุมชนและผู้ปกครองในการจัดการศึกษา รวมทั้งครูมีความรู้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอน และได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่น (เทศบาลวังตะกอ) 

 
Adobe Acrobat Document ดาวน์โหลดไฟล์   ขนาดไฟล์ 1.56 MB